คดีฆาตกรรมวัดปราสาททอง (มรดกโลก)
ปกติไม่อ่านคำนำ แต่วันนี้เกิดอยากจะอ่านขึ้นมา ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย เพราะบอกว่าในเรื่องมีการหักมุมแบบที่ต้องอ่าน "คดีฆาตกรรมวัดปราสาทเงิน" ด้วย ถึงจะครบถ้วน แต่ก็ปลอบใจด้วยการบอกว่าถึงจะอ่านเล่มไหนก่อนก็ไม่เป็นไรนะ อ่านรู้เรื่องหมดนั่นล่ะ ค่อยสบายใจขึ้นมาหน่อย เพราะยืมห้องสมุดมา กว่าจะต่อคิวปราสาทเงินก็อีกนานอาจจะได้อ่านปีหน้า คงจะลืมหมดซะก่อน
สถานที่ในเรื่องคือวัดคิงกะกุ (วัดปราสาททอง) แห่งเกียวโต ในตอนรุ่งเช้าก่อนที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม พบศพผู้หญิงสวมชุดกิโมโนถูกฆ่าด้วยยาพิษ ถูกทาด้วยสีทองทั้งหน้า เส้นผม แม้กระทั่งภายในปากก็กลายเป็นสีทองทั้งหมด คดีนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนมาก เพราะด้วยลักษณะการตายเหมือนเป็นการทำสัญลักษณ์เพื่ออะไรสักอย่าง ตำรวจเกียวโตเร่งสืบสวนคดีนี้โดยคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย อาซาฮินะ นักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดัง ได้รับเชิญมาออกรายการวิทยุช่วงดึกที่เกียวโต ผู้ดำเนินรายการคือยูทากะ พอเลิกงานยูทากะก็ชวนอาซาฮินะไปดื่มที่ห้องในโรงแรม พฤติกรรมของยูทากะนั้นเป็นที่น่าสงสัยสำหรับอาซาฮินะเป็นอย่างยิ่ง ชวนให้ไปห้องคุยเรื่อยเปื่อย พอถึงเวลาตีสี่ก็รีบให้อาซาฮินะกลับ การกระทำเหมือนจะสร้างหลักฐานยืนยันที่อยู่ไม่มีผิด สำหรับนักเขียนนิยายสืบสวนแล้วนี่อาจจะเป็นการคิดมากเกินไปก็ได้
พอรุ่งเช้าอาซาฮินะได้ยินข่าวว่าพบศพที่วัดคิงกะกุ จึงเปลี่ยนแผนไปดูเหตุการณ์ ต่อมาทราบว่าศพที่พบก็คือแม่ของยูทากะ คนที่เขาไปพบเมื่อคืน เริ่มมีกลิ่นทะแม่งๆ แล้วมั้ยล่ะ
ในเรื่องจะเล่าสลับไปมาระหว่างยูทากะตอนเด็ก กับปัจจุบัน ยูทากะเกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ครอบครัวของเขาประกอบด้วย พ่อที่เฉยชาอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีหน้าที่แค่ทำงานแล้วก็กลับบ้านมานั่งดูทีวี แม่ที่เหมือนคนรับใช้ของย่า ทำกับข้าว ดูแลย่าดูแลสามี ไม่เคยได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ย่าที่เกลียดลูกสะใภ้ คอยจับผิดอยู่เสมอ พ่อก็ไม่เคยออกหน้าปกป้อง ปล่อยให้โดนกระทำเรื่อยไปจนแม่มีอารมณ์บิดเบี้ยว ส่วนยูทากะนั้นถึงแม้จะเป็นที่รักของย่า แต่ก็ถูกเมินเฉยโดยพ่อเช่นกัน และก็กลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของแม่ในบางครั้ง และสึรุโกะน้องสาวที่อายุห่างกันมาก
พาร์ทเล่าอดีตมีเยอะมาก ค่อนข้างดราม่า แม่ที่เคยถูกบีบบังคับมาตลอด พอวันนึงย่าเสีย ก็เหมือนระเบิดลงตู้ม เปลี่ยนเป็นคนละคน แล้วทุกอย่างก็มาลงที่ยูทากะ เราอ่านแล้วเหมือนแก้ตัวให้ยูทากะเลย ถ้าเป็นฆาตกรตัวจริงล่ะก็นะ เพราะยังมีอีกคนที่เข้าข่ายน่าสงสัย ตัวละครลับที่โผล่มาในบทนำ เหมือนจะไม่สำคัญ แต่มาตอนหลังทำให้คดีพลิก
กลับมาที่พาร์ทปัจจุบัน อาซาฮินะมีส่วนช่วยในการวิเคราะห์คดีอย่างมากเลยค่ะ เมื่อกลับโตเกียวเขาติดต่อกับสารวัตรชิงากิกับนักสืบวาคุอิ ช่วยเหลือกันติดต่อทางตำรวจเกียวโต เพื่อคลี่คลายปริศนาและจับคนร้ายให้ได้ อย่างที่ว่ายูทากะมีพยานยืนยันที่อยู่ ถึงแม้รีบแค่ไหนก็ไม่สามารถไปกลับเพื่อฆ่าในระยะเวลานั้นได้ แต่หากมีการเตรียมการบางอย่างล่ะ!
เพิ่งรู้ว่าวัดทองเนี่ยเคยโดนเผามาก่อนเมื่อปี 1950 แล้วก็สร้างใหม่โดยการลงยางรักสีดำทาทั่วปราสาท ก่อนที่จะปิดด้วยแผ่นทอง เพราะฉะนั้นถึงข้างนอกจะเป็นสีทองอร่าม แต่ข้างในกลับเป็นสีดำล้วน เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคดีด้วย จะเป็นอย่างไรต้องไปอ่านเองแล้วค่ะ ถ้าบอกก็เฉลยซะหมด
อ่านจบแล้วยังเอ๊ะ มันใช่เหรอ มีอะไรที่คาใจ คงต้องรออ่านคดีฆาตกรรมวัดปราสาทเงินซะก่อน ถึงจะคลายข้อสงสัยได้
ผลงานลำดับที่ 4 ในนิยายชุด ‘มรดกโลกของญี่ปุ่น’ (จบในเล่ม)
แปลจากหนังสือ: 金閣寺の惨劇
ผู้เขียน : Tatsuya Yoshimura (โยชิมุระ ทัตสึยะ)
สำนักพิมพ์ : Hummingbooks / ฮัมมิงบุ๊คส์
ผู้แปล : กานตี ทาคาฮาชิ
จำนวน 336 หน้า
#รีวิวหนังสือ #แนะนำหนังสือ #นิยาย #วรรณกรรม #วรรณกรรมแปล #วรรณกรรมญี่ปุ่น #นิยายแปล #นิยายญี่ปุ่น #นวนิยายญี่ปุ่น #วรรณกรรมทั่วไป #สืบสวนสอบสวน #QEDรีวิวหนังสือ
Link Copied