คดีฆาตกรรมหมู่บ้านชิราคาวาโกะ
ยามาอุจิ ชูโซ บรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ ผู้ดูแลนิยายเรื่อง ‘คดีฆาตกรรมบ้านนุเรงามิ’ ของนักเขียน ‘นัตสึคาวะ โยสึเกะ’ ถูกพบเป็นศพที่ริมแม่น้ำทามะ โดยมีแค่ส่วนหัวถูกจัดท่าให้คาบนามบัตรของตนเอง ซากุรางิบรรณาธิการ ‘ความจริงรายสัปดาห์’ เป็นพวกกระหายข่าว ถึงแม้จะตกใจที่ลูกน้องตัวเองโดนฆาตกรรม แต่ก็อยากได้ข้อมูล อาจจะดูเป็นคนใจร้ายที่เอาศพลูกน้องมาหากิน แต่ก็ตกลงใจที่จะลงข่าวเป็นสกู๊ปเพื่อเรียกเรตติ้งจากผู้อ่าน เมื่อตำรวจสืบไปก็พบว่า คดีครั้งนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับนิยาย โดยน่าจะมีต้นแบบจริงอยู่ที่หมู่บ้านชิราคาวะโกะ
‘คดีฆาตกรรมบ้านนุเรงามิ’ เล่าเรื่องสองบ้านใหญ่ที่มีอิทธิพล อาศัยอยู่ในบ้านแบบกัชโชสึคุริ เป็นบ้านญี่ปุ่นโบราณ หลังคาสูงมุงหญ้าทรงสามเหลี่ยม ทั้งสองบ้านแข่งกันผลิตดินปืนมาตลอด จนขัดแย้งกัน แต่ลูกของทั้งสองตระกูลกลับรักกัน เหมือนในเรื่องโรมิโอกับจูเลียต ตรงนี้เล่าละเอียดมาก ลักษณะบ้านเป็นอย่างไร มีกี่ชั้น มุงหญ้าเปลี่ยนหลังคายังไง ประวัติศาสตร์ความเป็นมา การเลี้ยงไหม การผลิตดินปืน จนเราลืมไปเลยว่ากำลังอ่านนิยายฆาตกรรม บรรยายบรรยากาศของหมู่บ้านจนเราอยากไปเที่ยว
มีตัวละครเยอะเล่าตัดสลับไปมา ด้านสารวัตรชิงากิกับนักสืบวาคุอิที่เดินทางจากโตเกียวไปชิราคาวาโกะ ไปสมทบกับตำรวจทางนั้น ซากุรางิที่สั่งให้ริกะไปทำข่าวที่หมู่บ้านด่วน จนไปเจอกับนัตสึคาวะนักเขียนที่โน่น ทางฝั่งต้นแบบนิยายประกอบด้วยสองครอบครัว ครอบครัวละสามคนพ่อแม่ลูก หลังจากนั้นไม่นานก็เจอศพส่วนลำตัวปักเข้าไปในช่องหน้าผา ไหล่มุดเข้าไปในดิน ขาลอยพื้น
การเล่าในมุมมองของหลายๆ คนมันก็ดี คือจะรู้สภาพแวดล้อมก่อนว่าใครคิดยังไง ไม่รีบเฉลยตัวฆาตกร ค่อยๆ บีบวงให้แคบลงเรื่อยๆ ให้มีเวลาให้เราได้เดาด้วย ในอีกมุมมันก็น่ารำคาญ กำลังจะเฉลยอยู่แล้วตัดไปตัดมาสองสามรอบจนหมดอารมณ์ ตลอดเวลาที่อ่านก็สงสัยว่า ยามาอุจิ ไปทำอะไรถึงโดนฆ่าแบบนี้ ดูไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันได้
จนถึงตอนเฉลยทริกก็คิดว่า เอาดื้อๆ แบบนี้เลยเหรอ คือยามาอุจิเป็นคนที่ไม่ควรจะตายเลย และก็คิดว่าเออมันไม่ได้มีวิธีคิดแบบไปข้างหน้าอย่างเดียวนี่นะ ก็ยังดีที่ไม่ใช่แนวบูชายัญ ช่วงนี้อ่านแบบนั้นซะเยอะจนไม่เอาแล้ว
สิ่งที่ชอบนอกจากการผูกเรื่องฆาตกรรมแล้ว คือการเล่าไปเรื่อย เห็นภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านทั้งชิราคาวาโกะ และโกคายามะ วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน การมุงหลังคาใหม่ บรรยากาศในบ้านแบบโบราณที่มีเตาอิโรริอยู่ตรงกลาง ความเงียบเชียบเงียบสงบท่ามกลางพายุหิมะ ถ้าได้ไปเที่ยวตอนฤดูหนาวที่มีการเปิดไฟตอนกลางคืนคงจะสวยมาก
นิยายเรื่องแรกในชุด ‘มรดกโลกของญี่ปุ่น’ อ่านเล่มนี้จบก็อ่านครบทุกเล่มพอดี ทั้งหมดทั้งมวลที่อ่านมา คิดว่าเรื่องนี้สนุกสุดในทั้งหมด 5 เล่มค่ะ
ผลงานนิยายชุด ‘มรดกโลกของญี่ปุ่น’ ประกอบด้วย:
ลำดับที่ 1 #คดีฆาตกรรมหมู่บ้านชิราคาวะโกะ
ลำดับที่ 2 #คดีฆาตกรรมภูเขาไฟฟูจิ
ลำดับที่ 3 #คดีฆาตกรรมโดมปรมาณู
ลำดับที่ 4 #คดีฆาตกรรมวัดปราสาททอง
ลำดับที่ 5 #คดีฆาตกรรมวัดปราสาทเงิน
ผู้เขียน: Tatsuya Yoshimura (โยชิมุระ ทัตสึยะ)
สำนักพิมพ์: Hummingbooks Publishing ฮัมมิงบุ๊คส์
จำนวน 380 หน้า
#รีวิวหนังสือ #แนะนำหนังสือ #หนังสือน่าอ่าน #หนังสือดีบอกต่อ #นิยาย #วรรณกรรม #วรรณกรรมแปล #วรรณกรรมญี่ปุ่น #นิยายแปล #นิยายญี่ปุ่น #นวนิยายญี่ปุ่น #วรรณกรรมทั่วไป #QEDรีวิวหนังสือ
Link Copied