ทุกวันเป็นวันที่ดี ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน
โมริชิตะ โนริโกะ ไม่เคยมีความคิดที่จะไปเรียนชงชาเลย เธอรู้สึกว่าการเรียนศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นทั้งเชยและไม่เท่ ที่ไปเรียนก็เพราะตามเพื่อนไป แค่อยากมีเวลาหลังเลิกเรียนพูดคุยกันระหว่างกลับบ้าน ตอนนั้นเธออยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ในปี 1977 เป็นช่วงเวลาที่เคว้งคว้างไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรในอนาคต อย่างน้อยการไปเรียนชงชาก็ทำให้รู้สึกว่าทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง
การเรียนชงชานั้นเหมือนพิธีกรรมอะไรสักอย่าง มีข้อกำหนดเยอะมาก ต้องพับผ้าแบบนี้ เช็ดกระปุกชาเป็นตัวอักษรญี่ปุ่น ต้องก้าวเท้าซ้ายก่อน ต้องเดินเป็นจำนวนก้าวเท่านี้ระหว่างเสื่อทาทามิ เวลาตักน้ำต้องตักจากก้นหม้อ ตักจากกลางหม้อ ยกกระบวยความสูงต้องเท่านี้ เอียงองศาประมาณนี้ เยอะแยะไปหมด โมริชิตะรู้สึกขัดแย้งในใจเพราะเวลาเรียนที่โรงเรียนครูมักสนับสนุนให้ถาม แต่พอมาเรียนที่นี่กลับห้าม ไม่รู้ว่าแต่ละอย่างที่ทำไปทำเพื่ออะไร
การเรียนรู้ของเธอเป็นไปอย่างช้าๆ เป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยกลางคน เป็นการรู้ด้วยตนเองเมื่อได้เข้าไปในห้องชงชา ผ่านการเรียนชงชาสำหรับฤดูร้อน ชงชาสำหรับฤดูหนาว การออกไปงานชงชาในสวน การเป็นเจ้าภาพในการชงชาด้วยตนเอง ในห้องชงชาจะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นภาพแขวนที่เปลี่ยนทุกวัน ดอกไม้ปักที่แจกัน ระดับของน้ำที่ไหล ขนมญี่ปุ่นที่กินแกล้มกับชา
ถ้าแอดจะสรุปว่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้คืออะไร นี่แน่ๆ คือความอดทนในช่วงแรก ทั้งทางร่างกายที่ต้องนั่งในท่านึงเป็นเวลานานๆ อดทนกับความคับข้องใจที่สงสัยตลอดเวลาว่าทำไปทำไม และอีกสิ่งนึงคงเป็นการอยู่กับปัจจุบัน เพราะระหว่างที่เรียนไม่สามารถจำขั้นตอนล่วงหน้าได้เลย ถ้าทำแบบนั้นการชงชาจะชะงัก ต้องปล่อยให้มือเคลื่อนไปเอง เราไม่ได้เรียนเองคงไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เขาเรียนอย่างถ่องแท้อะไรแบบนั้น และคงไม่มีโอกาสเรียนด้วย แต่เราว่ามันเหมือนการนั่งสมาธิ การฝึกสติ ในรูปแบบของพิธีรีตรอง สิ่งที่จะได้ของแต่ละคนก็คงจะต่างออกไป คุณโมริชิตะก็ถ่อมตัวว่าแม้จะเรียนมาหลายปีแต่ก็ไม่ได้รู้สึกเก่ง และมีเรื่องให้เรียนรู้ตลอด
เราชอบการเล่าเรื่องนะ แทนที่จะเล่าเป็นข้อๆ สอนแบบดูน่าเบื่อ แต่นี่เหมือนนิยายเรื่องนึง เล่าตั้งแต่อายุน้อยจนวัยกลางคน
ผู้เขียน : โมริชิตะ โนริโกะ
ผู้แปล : สิริพร คดชาคร
สำนักพิมพ์ : Bibli (บิบลิ)
จำนวน 248 หน้า
日日是好日―「お茶」が教えてくれた15のしあわせ―
#รีวิวหนังสือ #แนะนำหนังสือ #วรรณกรรมแปล #นิยาย #วรรณกรรมญี่ปุ่น #เรื่องแปล #เรื่องสั้น #การชงชา #QEDรีวิวหนังสือ
Link Copied